รักกัน รักกัน…แต่งงานกันนะ (แต่งงานที่ฮอลแลนด์) – 2

อย่างที่เคยเกริ่นไว้ในตอนที่  1 นะคะ ว่าการแต่งงานจดทะเบียนสมรสตามกฏหมายที่ฮอลแลนด์นั้นมีหลายแบบ มีทั้งหมด 3 แบบค่ะ คือ

1. จดทะเบียนสมรส (Trouwen)

2. จดทะเบียนพาร์ทเนอร์ (Geregistreerd partnerschap)

3. จดทะเบียนแบบใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน (Samenwonen)

ทั้งสามแบบนี้ สามารถจดได้ทั้งคู่ชาย-หญิง หรือคู่เพศเดียวกันก็ได้ค่ะ ต่อไปขออธิบายข้อดี ข้อเสีย ข้อแตกต่างกันของการแต่งงานแต่ละประเภทนะคะ

 

1. จดทะเบียนสมรส (Trouwen)

เทียบเท่ากับการจดทะเบียนสมรสในเมืองไทยค่ะ ขั้นตอนก็เหมือนที่ออยเล่าไปแล้วใน ตอนที่ 1 (ถ้ายังไม่อ่าน คลิกอ่านได้เลยค่ะ http://dutchthingy.wordpress.com/2014/05/11/%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%99-%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%99-%E0%B9%81%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%B1-2/)

การแต่งงานนี้ ถ้ามีคู่สมรสต่อมามีลูกกัน ลูกนั้นถือว่าเป็นลูกของฝ่ายชายโดยอัตโนมัติเลยค่ะ (คือลูกเป็นของผู้หญิง แน่นอนอยู่แล้ว เพราะคลอดออกมาเอง แต่คนเป็นพ่อ บางครั้งไม่ชัดเจนค่ะ) ถึงแม้ว่า เด็กที่เกิดมานั้น อาจจะไม่ได้เป็นลูกโดยทางชีวภาพ แบบ DNA ไม่ตรงกันอะไรทำนองนี้

ถ้าจดทะเบียนสมรสกันแบบนี้ หากถึงคราวต้องเลิกกัน การหย่าร้าง ต้องขอคำสั่งจากศาลเท่านั้นค่ะ คือต้องให้ศาลเป็นคนอนุมัติ จึงจะหย่าร้างกันโดยสมบูรณ์

*** นอกเรื่องนิดค่ะ อยากเตือนสาวๆ ที่คิดจะรักหนุ่มฝรั่ง แล้วฝ่ายชายบอกว่า เขาเลิกกับภรรยาแล้ว และกำลังอยู่ในขั้นตอนหย่าร้าง คือถ้าผู้ชายยังหย่าไม่เสร็จ อยากให้สาวๆ ดูใจเขาต่ออีกนิดค่ะ อย่าเพิ่งไปตกลงใจ ตัดสินใจไปมีความสัมพันธ์กับเขา เพราะถ้าหวังว่าเขาจะหย่าเสร็จ แล้วจะมาแต่งกับเราต่อ มันอาจจะไม่ไวขนาดนั้น ขั้นตอนยุ่งยาก ค่าใช้จ่ายสูง และเจ็บปวดใจมากเลยทีเดียว คือในเมืองนอก การหย่ามันไม่ได้ง่ายเหมือนเมืองไทย ที่เมืองไทยหากพร้อมใจหย่า ก็นัดกันขึ้นอำเภอ เซ็นต์ใบหย่า เสร็จ จบ …แต่เมืองนอก บางประเทศ อย่างอังกฤษ ต้องแยกกันอยู่มากกว่า 1 ปีก่อน จึงจะสามารถทำเรื่องหย่าได้ หรืออย่างกรณีนี้ ประเทศฮอลแลนด์ ก็ต้องตกลงเรื่องสินสมรส และต้องได้รับคำสั่งจากศาลก่อน จึงจะมีผลตามกฏหมาย …ค่าใช้จ่ายสูงพอควรเลยค่ะ ยิ่งถ้าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่สมัครใจหย่า ยิ่งเพิ่มค่าใช้จ่ายเข้าไปอีก เพราะต้องใช้ทนาย

 

2. จดทะเบียนพาร์ทเนอร์ (Geregistreerd partnerschap)

จะคล้ายๆ กับการจดทะเบียนสมรสค่ะ นิยมกันในคู่รักเพศเดียวกัน ข้อดีของการจดทะเบียนพาร์ทเนอร์คือ คู่รักไม่จำเป็นต้องจัดงานเลี้ยงค่ะ ถ้าไม่อยากจัด ไม่ต้องใส่ชุดเจ้าสาว เจ้าบ่าว ให้สิ้นเปลือง บางคู่ที่ยังไม่พร้อมทางการเงิน แต่อยากจดทะเบียนเพื่อให้มีผลทางกฏหมาย เพื่อนำไปใช้ในการทำธุรกรรมอื่นๆ เช่น กู้ร่วมซื้อบ้าน เป็นต้น ก็มักเลือกวิธีนี้ค่ะ

ข้อแตกต่างในเรื่องบุตรค่ะ ลูกที่เกิดมาในขณะที่ทั้งคู่อยู่ด้วยกัน ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นลูกของฝ่ายชายโดยอัตโนมัติค่ะ หากไม่ใช่ลูกโดยทางชีวภาพ

อีกเรื่องที่แตกต่าง คือ เมื่อจะเลิกกัน หากสมัครใจที่จะเลิกกัน และทั้งคู่ไม่มีบุตรที่อายุต่ำกว่า 1 ปี ก็สามารถทำเรื่องเลิกกันได้นอกศาลได้เลยค่ะ ไม่ยุ่งยาก (ถ้าจากกันด้วยดีนะ)

 

3. จดทะเบียนแบบใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน (Samenwonen)

คล้ายๆ กับการอยู่ด้วยกันเฉยๆ แบบบ้านเราน่ะค่ะ เพียงแต่ทำให้มันทางการหน่อย บอกให้ที่บุคคลที่สามรู้ว่า คู่นี้มาใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันนะจ๊ะ ศึกษากันไปจนกกว่าจะพร้อม ก็ทำสัญญาว่า ค่าใช้จ่ายนี่นั่นในบ้าน ใครจะเป็นคนจ่าย อาจจะถึงขั้นเงินบำนาญ เงินที่เปิดบัญชีร่วมกัน จะจัดการกันอย่างไร การจดทะเบียนเเบบใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน สามารถร่างหนังสือขึ้นมาได้เองเลยค่ะ หากแต่ถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับธุรกรรมทางการเงิน เช่น เงินบำนาญ เงินเกษียณ อันนี้ ต้องจ้างให้ทนายทำให้ค่ะ

การจดทะเบียนแบบใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน ก็คล้ายกับข้อตกลงก่อนอยู่บ้านเดียวกันน่ะค่ะ ทำไว้จะเป็นเรื่องดีทีเดียว หากเรายังไม่พร้อมแต่งงาน หรือจดทะเบียนพาร์ทเนอร์ กำลังอยู่ในช่วงอยู่ด้วยกันก่อนแต่ง ข้อตกลงนี้จะช่วยป้องกันความรู้สึกว่าถูกเอาเปรียบได้ค่ะ

การจดทะเบียนแบบใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน สามารถจดกับบุคคลมากกว่า 1 คน พร้อมๆ กันได้ค่ะ — คือในบ้านนั้น จะอยู่ร่วมกันกี่คน ก็จดกันไปค่ะ

การจดทะเบียนแบบใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันนี้ ไม่ต้องรับผิดชอบหนี้และสมบัติของกันและกันนะคะ แต่อีกสองแบบก่อนหน้านี้ ต้องรับผิดชอบร่วมกัน 50-50 ค่ะ ยกเว้นแต่ว่าได้ทำสัญญาก่อนแต่งไว้ก่อนแล้ว

 

รายละเอียดเพิ่มเติม สามารถหาอ่านได้จากเวปไซค์นี้เลยค่ะ http://www.stichtingsajaam.nl/  เป็นเวปไซค์ที่ดีมากเลยค่ะ มีบทความเกี่ยวกับกฏหมายน่ารู้ต่างๆ ของฮอลแลนด์ เพื่อคนไทยที่อยู่ในประเทศเนเธอร์แลนด์

 

1052730_622366814455090_280490787_o