การเข้ารับราชการทหาร สำหรับชายไทยในเนเธอร์แลนด์

เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม ปีที่แล้ว ทางสยามสมาคมเขาได้จัดงานบรรยายเรื่อง “กฎหมายไทยควรรู้ สำหรับคนไทยในต่างแดน” ขึ้นค่ะ โดยมีเจ้าหน้าที่จากสำนักงานอัยการสูงสุดที่เมืองไทยมาเป็นวิทยากร จัดขึ้นที่วัดพุทธวิหาร อัมสเตอร์ดัม — ได้มีโอกาสเข้าฟังด้วย ได้รับความรู้มากมาย เลยเอาที่จดๆ มา และมาหาข้อมูลทำการบ้านเพิ่มนิดหน่อยในส่วนที่ยังไม่เข้าใจ แล้วก็นำมาเขียนเป็นบทความชิ้นนี้นี่แหละค่ะ

ในงานบรรยาย มีหลายหัวข้อนะคะ เดี๋ยวว่างๆ จะทยอยเขียนเป็นบทความเพิ่มค่ะ — ตอนนี้เอาเรื่องเกณฑ์ทหารก่อนเนอะ

ในบทความนี้จะเน้นเฉพาะการเกณฑ์ทหารสำหรับลูกครึ่งไทย-ดัตช์ หรือเด็กชายไทยที่ติดตามแม่มาอยู่ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์เท่านั้นนะคะ ในบทความอาจจะใส่ความคิดเห็นส่วนตัวลงไปบ้าง และภาษาที่ใช้ก็ไม่เป็นทางการ ประมาณเอามาเล่าสู่กันฟัง — หากอยากได้แบบวิชาการจริงจัง เลื่อนลงไปคลิกลิงก์ที่เอกสารอ้างอิงท้ายบทความได้เลยค่ะ

ชายไทยทุกคนต้องเข้ารับการตรวจคัดเลือกเพื่อเกณฑ์ทหารค่ะ การถือสองสัญชาติ ไม่ใช่ข้อยกเว้นในกรณีนี้
ธงชาติไทย

การแจ้งเกิด

    • มี 2 ทางเลือก
  • ไม่แจ้งเกิดลูกที่สถานทูตไทย ณ กรุงเฮก หรือไม่เอาชื่อลูกเข้าทะเบียนบ้านไทย — (กลายเป็นว่า ลูกไม่ได้เป็นคนไทยโดยสมบูรณ์ ถือพาสบอร์ตดัตช์อย่างเดียว)
  • แจ้งเกิดลูกตามปกติ ทำตามขั้นตอน และทำเรื่องผ่อนผันเมื่อถึงเวลา

เด็กลูกครึ่งไทย-ดัตช์ จะมีสิทธิ์ในทั้ง 2 สัญชาติค่ะ คือทั้งสัญชาติไทย และสัญชาติเนเธอร์แลนด์

การถือ 2 สัญชาติ หมายความว่า เราเป็นทั้งคนไทยเต็มร้อย และเป็นคนดัตช์เต็มร้อย ค่ะ แปลว่า เรามีหน้าที่ของการเป็นพลเมืองทั้งไทยและดัตช์เต็ม 100 เปอร์เซ็นต์ ทั้งคู่ค่ะ (หน้าที่พลเมืองเราจะเยอะขึ้นกว่าคนที่ถือสัญชาติเดียวค่ะ)

แต่การที่เด็กลูกครึ่งจะมีสัญชาติไทยโดยสมบูรณ์ได้นั้น ก็ต้องนำสูติบัตรดัตช์ แปลและไปแจ้งเกิดที่สถานทูตค่ะ รวมถึงต้องนำชื่อเด็กไปเข้าชื่อในทะเบียนบ้านที่เมืองไทยด้วยค่ะ เพื่อที่เด็กจะได้มีเลขประจำตัวคนไทย 13 หลัก

คราวนี้เนี่ย มีคุณแม่หลายคนที่กังวลว่าลูกชายจะต้องโดนเกณฑ์ทหารเมื่อโตขึ้น จึงไม่ไปแจ้งเกิดลูกที่สถานทูต หรือไม่เอาชื่อลูกเข้าทะเบียนบ้านที่ไทยค่ะ — ตรงนี้จะมีข้อดีคือ ลูกจะไม่เจอหมายเรียกให้ไปเกณฑ์ทหาร แล้วก็ไม่ต้องยุ่งยากเรื่องเอกสารต่างๆ ทั้งเรื่องลงทะเบียนทหารกองเกิน รับหมายเรียก ผ่อนผัน ฯลฯ …. แต่ก็มีข้อเสีย คือ เด็กจะเสียสิทธิความเป็นคนไทย เช่น ทำบัตรประชาชน ทำพาสปอร์ตไทย (ทำครั้งแรกสถานทูตอนุโลมให้ แต่ครั้งถัดมาทำไม่ได้ค่ะ) หรือสิทธิในการถือครองที่ดินเมืองไทย รับราชการเมืองไทย ฯลฯ

อันนี้ความคิดเห็นส่วนตัวนะคะ — การตัดสินใจจะเอาชื่อลูกเข้าทะเบียนบ้านที่เมืองไทยหรือไม่ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์และการพิจารณาของคุณแม่แต่ละท่านเลยค่ะ — ส่วนตัวเชียร์ให้คุณแม่แจ้งเกิดลูก และเอาชื่อลูกเข้าทะเบียนบ้าน ให้เขาเป็นคนไทยโดยสมบูรณ์ค่ะ เพราะกว่าอายุจะถึงตอนเกณฑ์ทหาร มันก็มีเวลาผ่อนผันต่ออีกได้ตั้งหลายปี ถึงตอนนั้นกฎหมายนี้ก็อาจจะเปลี่ยนแล้วก็ได้ค่ะ อีกอย่างลูกเราเองก็โตพอที่จะตัดสินใจอะไรๆ ได้ด้วยตัวเองแล้ว  เมื่อถึงตอนนั้น ให้เขาตัดสินใจชีวิตของเขาเองดีกว่าค่ะ 

ขั้นตอนการเข้ารับราชการทหาร

  1. ขึ้นทะเบียนทหารกองเกิน
  2. รับหมายเรียก หรือรับหมายเกณฑ์
  3. การตรวจเลือก
  4. การเรียกพลของทหารกองหนุน
อบรม

๑. ขึ้นทะเบียนทหารกองเกิน

กระทำเมื่อลูกเรามีอายุ 17 ปีย่างเข้า 18 ค่ะ — วิธีคำนวณคือ เอา  ปี พ.ศ.เกิด หรือ ปี ค.ศ. เกิด + 17 = ปีที่ต้องทำเรื่องลงทะเบียนทหารกองเกิน   เช่น ลูกเรายังเด็กน้อย เกิดเมื่อปี ค.ศ. 2017 –> 2017+17 = 2034 — แสดงว่า ปี ค.ศ. 2034 คุณแม่ก็เตรียมทำเรื่องลงบัญชีทหารกองเกินได้แล้วค่ะ

การลงทะเบียนหหารกองเกิน ถ้ากระทำในปีที่อายุครบ 17 ย่าง 18 ปีนั้น มีข้อดีค่ะ คือลูกเราไม่ต้องกลับเมืองไทยไปทำเรื่อง สามารถมอบอำนาจให้ญาติพี่น้องที่บรรลุนิติภาวะแล้วไปจัดการลงทะเบียนแทนให้ได้ค่ะ จะไปเดือนไหนในปีนั้นก็ได้ค่ะ — แต่ถ้าพ้นปีนั้นไปแล้ว การลงทะเบียนทหารกองเกิน ลูกเราต้องไปด้วยตัวเองแล้วค่ะ มอบอำนาจไม่ได้แล้ว

การลงทะเบียนกระทำที่สัสดีเขต หรือสัสดีอำเภอที่แม่มีชื่อในทะเบียนบ้านอยู่ค่ะ พอลงทะเบียนเสร็จแล้ว จะได้ใบสำคัญ ที่เรียกว่า   แบบ สด.9  มาค่ะ เก็บไว้ให้ดีนะคะ เดี๋ยวต้องเอามาใช้ต่อในการผ่อนผันค่ะ

เอกสารที่ใช้
  1. บัตรประชาชนไทยของตนเอง
  2. สำเนาทะเบียนบ้านพร้อมตัวจริง
  3. สูติบัตรตัวจริง
  4. หากมอบอำนาจ ผู้รับมอบอำนาจต้องทราบตำหนิแผลเป็นของผู้ลงทะเบียนด้วยค่ะ

*** มาตรงนี้ หาข้อมูลไม่ได้ค่ะ ว่าถ้ามอบอำนาจให้ญาติไปแทน ต้องทำเรื่องมอบอำนาจที่สถานทูตไทย ณ กรุงเฮกหรือไม่ แนะนำให้สอบถามสัสดีในพื้นที่เป็นดีที่สุดค่ะ ****

๒. รับหมายเรียก หรือรับหมายเกณฑ์

เกิดขึ้นเมื่ออายุ 20 ปี ย่างเข้า 21 ค่ะ — วิธีคำนวณคือ เอา  ปี พ.ศ.เกิด หรือ ปี ค.ศ. เกิด + 20 = ปีที่ต้องทำเรื่องลงทะเบียนทหารกองเกิน   เช่น ลูกเรายังเด็กน้อย เกิดเมื่อปี ค.ศ. 2017 –> 2017+20 = 2037 — แสดงว่า ปี ค.ศ. 2037 คุณแม่ก็เตรียมทำเรื่องรับหมายเรียกได้แล้วค่ะ

การรับหมายเรียกเนี่ย มอบอำนาจให้ญาติ หรือเราผู้ปกครองไปรับแทนได้นะคะ ลูกเราไม่จำเป็นต้องกลับเมืองไทย โดยใช้เหตุผลว่า ไปอยู่ต่างประเทศยังไม่มีกำหนดกลับหรือมีกำหนดกลับ แต่วันที่จะกลับนั้นเลยกำหนดเวลาการรับหมายเรียกฯ

หลักฐานเอกสารที่ใช้
  1. ใบสำคัญ (แบบ สด.9)
  2. บัตรประจำตัวประชาชนไทย
  3. หนังสือมอบอำนาจ (กรณีมอบอำนาจให้ผู้อื่นมารับหมายเรียกแทนค่ะ)
  4. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มอบและผู้รับมอบอำนาจ

พอรับหมายเรียกเสร็จขั้นตอนแล้ว เราจะได้รับเอกสารสำคัญ ที่เรียกว่า  แบบ สด.35  ค่ะ เก็บไว้ให้ดีนะคะ จะต้องใช้ต่อในกระบวนการถัดไปค่ะ

การผ่อนผัน

กระทำตอนช่วงอายุระหว่าง 20 – 21 ปีค่ะ คือปีเดียวกับที่ทำเรื่องรับหมายเกณฑ์ คุณแม่ก็เตรียมตัวทำเรื่องการผ่อนผันให้ลูกได้เลยค่ะ โดยเหตุผลของการผ่อนผัน คือลูกของเรากำลังศึกษาอยู่ค่ะ ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำคือ ไปขอหนังสือรับรองจากสถานศึกษาที่ลูกเราเรียนอยู่ค่ะ — เจ้าหน้าที่อัยการสูงสุดแนะนำว่า ในใบรับรองของสถานศึกษาควรมีระบุว่า  กำลังศึกษาชั้นปีที่เท่าไร คณะ สาขาที่เรียน การศึกษามีหลักสูตรกี่ปี และคาดว่าจะสำเร็จการศึกษาเมื่อไร   — ซึ่งจะได้ช่วยประหยัดเวลาค่ะ เราจะได้ไม่ต้องมาผ่อนผันปีต่อปีอยู่ แต่ผ่อนผันไปจนสำเร็จการศึกษาหลักสูตรนั้นเลย

เมื่อได้ใบรับรองของสถานศึกษามาแล้ว ก็นำมาแปลเป็นภาษาไทย พร้อมลงชื่อของผู้แปลค่ะ

จากนั้นไปสถานทูตไทย ณ กรุงเฮก พร้อมด้วยเอกสารดังนี้
  1. สำเนาใบสำคัญทหารกองเกิน (แบบ สด.9) และหมายเรียกเข้ารับราชการทหาร (แบบ สด.35) –> แบบ สด. 35 ไม่ได้บังคับนะคะ ถ้ามี ก็เอามาแสดงค่ะ ไม่มีไม่ต้อง
  2. สำเนาทะเบียนบ้าน
  3. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน
  4. หนังสือรับรองจากสถาบันการศึกษาที่แปลเป็นไทย และลงชื่อผู้แปลเรียบร้อยแล้ว

สามารถเช็คอัพเดทเอกสารที่ทางสถานทูตต้องการได้โดยตรงที่เว็บไซต์ของสถานทูตค่ะ คลิก

สิ่งที่เราจะได้รับจากสถานทูตคือ “หนังสือรับรองจากสถานทูต” ค่ะ —> จากนั้น ให้เรานำหนังสือรับรองนี้ ไปทำเรื่องผ่อนผันที่สัสดีเขตหรือสัสดีอำเภอที่มีภูมิลำเนาอยู่ที่เมืองไทยค่ะ

การยื่นขอผ่อนผันต้องยื่นในเดือนกุมภาพันธ์ หรือก่อนถึงวันเกณฑ์ทหารไม่เกิน 15 วัน ในปีที่ลูกเราอายุ 21 ปีค่ะ (เอาปี ค.ศ.เกิด +21 = ปีที่ต้องยื่นเรื่องผ่อนผันการเกณฑ์ทหาร) หรือก็คือปีถัดจากที่เราได้รับหมายเรียกนั่นเองค่ะ

การยื่นขอผ่อนผันนี่ สามารถมอบฉันทะให้ญาติ หรือผู้ปกครองไปยื่นแทนได้นะคะ เจ้าตัวไม่จำเป็นต้องกลับไทยมาทำเรื่องค่ะ

เอกสารที่ต้องใช้ในการทำเรื่องขอผ่อนผันการตรวจเลือก
  1. สำเนาทะเบียนบ้าน
  2. บัตรประจำตัวประชาชน
  3. ใบสำคัญ (แบบ สด.9) หมายเกณฑ์ หรือหมายเรียก (แบบ สด.35)
  4. หนังสือรับรองจากสถานทูต
  5. หนังสือรับรองหลักสูตรของสถานศึกษา ที่แปลเป็นภาษาไทยและลงชื่่อผู้แปลเรียบร้อยแล้ว
  6. หนังสือมอบอำนาจ (กรณีมอบอำนาจให้ผู้อื่นมารับหมายเรียกแทนค่ะ)
  7. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มอบและผู้รับมอบอำนาจ
  8. สำเนาทะเบียนบ้านของผู้รับมอบอำนาจ

ยื่นขอผ่อนผันที่นายอำเภอที่ลูกเรามีชื่อในทะเบียนบ้านนะคะ โดยเมื่อเสร็จเรื่อง และได้รับอนุมัติแล้ว เราจะได้เอกสาร ชื่อ  หนังสือผ่อนผัน หรือ แบบ สด.41  มาเก็บไว้เป็นหลักฐานค่ะ

การผ่อนผันจะสิ้นสุดลงเมื่อ

1. สำเร็จการศึกษาหรือออกจากสถานศึกษานั้น หรือย้ายสถานศึกษา

2. อายุ 26 ปีบริบูรณ์

3. สมัครใจขอยกเลิกการผ่อนผัน

เมื่อการผ่อนผันสิ้นสุด ก็ต้องแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ด้วยค่ะ อันนี้ต้องไปด้วยตนเองค่ะ —- ถ้าเรียนจบ หรือพ้นสถานะผ่อนผัน อันนี้ต้องแจ้งนายอำเภอภายใน 30 วัน หลังจากพ้นสถานะค่ะ แต่ถ้าสมัครใจของยกเลิกการผ่อนผัน จะไปแจ้งนายอำเภอทันที หรือจะรอไปแจ้งในวันตรวจเลือกก็ได้ค่ะ

เอกสารที่ต้องใช้

  1. สำเนาทะเบียนบ้าน
  2. บัตรประจำตัวประชาชน
  3. ใบสำคัญ (แบบ สด.9)
  4. ใบระเบียนแสดงผลสำเร็จการศึกษา หรือหลักฐานแสดงว่าออกจากสถานศึกษา

เมื่อแจ้งเจ้าหน้าที่เรียบร้อยแล้ว เราจะได้เอกสารมาเรียกว่า  ใบรับ (แบบ สด. 10)  ค่ะ

การขอยกเว้น

การเป็นทหารได้นั้น ร่างกายและจิตใจต้องแข็งแรงสมบูรณ์พอสมควร ดังนั้นบางคนที่ร่างกายไม่พร้อม ก็สามารถทำเรื่องขอยกเว้นได้ค่ะ โดยทางกองการสัสดีเขาก็ได้กำหนดรายชื่อโรคที่ทำให้ได้รับยกเว้นค่ะ คลิกอ่านได้ที่นี่

ถ้าคุณแม่เห็นว่าลูกเราป่วย อยู่ในเกณฑ์ได้รับการยกเว้นไม่ต้องเกณฑ์ทหาร ก็สามารถทำเรื่องขอยกเว้นได้ค่ะ โดย ต้องไปตรวจร่างกายที่หนึ่งในโรงพยาบาลในสังกัดกองทัพบก 21 แห่งทั่วประเทศ  (จะเอาใบรับรองแพทย์ที่ฮอลแลนด์ไปแสดงเพื่อขอยกเว้นไม่ได้ค่ะ!!!) ลูกเราต้องไปให้หมอที่โรงพยาบาลสังกัดกองทัพบกตรวจด้วยตนเอง และจะต้องไปใน ช่วงเดือนตุลาคมของปีก่อนการตรวจเลือก จนถึง วันที่ 25 กุมภาพันธ์ ปีที่จะเข้ารับการตรวจเลือกเท่านั้น  อนึ่ง ค่าใช้จ่ายในการตรวจร่างกายตรงนี้ เราต้องออกค่าใช้จ่ายเองนะคะ

รายชื่อโรงพยาบาลสังกัดกองทัพบกทั้ง 21 แห่ง คลิกดูได้ในเอกสารนี้ค่ะ (หน้าที่ 2 เป็นต้นไป)

เอกสารที่ต้องใช้ในการตรวจร่างกายเพื่อขอยกเว้น

  1. บัตรประจำตัวประชาชน
  2. ใบสำคัญ (แบบ สด.9)
  3. หมายเกณฑ์ หรือหมายเรียก (แบบ สด.35)
  4. รูปถ่ายสี ขนาด 1 นิ้ว จำนวน 3 รูป

จบจากขั้นตอนการตรวจร่างกายเพื่อขอยกเว้น เราจะได้รับ  ใบรับรองแพทย์  มาเก็บไว้เป็นหลักฐานค่ะ เพื่อใช้ในการตรวจเลือกทหารในเดือนเมษายนค่ะ

๓. การตรวจเลือก

คราวนี้ก็มาถึงวันจริงแล้วค่ะ คือเมื่อสิ้นสุดการผ่อนผันแล้ว หรือเรียนจบแล้ว ก็ต้องเข้ารับการตรวจเลือกทหารล่ะค่ะ หรือเมื่อทำเรื่องยกเว้นแล้ว คือไปตรวจร่างกายเรียบร้อยแล้ว ก็ต้องมาเข้ารับการตรวจเลือกเช่นกันค่ะ (ถึงจะได้รับการยกเว้นไม่ต้องเป็นทหาร แต่เจ้าหน้าที่สัสดีเขาอยากเห็นตัวจริง เห็นเอกสารจริงๆ น่ะค่ะ)

ปกติการตรวจเลือกทหาร จะกระทำกันในระหว่างวันที่ 1 – 11 เมษายนของทุกปี อันนี้ต้องมาเข้ารับการตรวจเลือกด้วยตนเองนะคะ มอบอำนาจไม่ได้แล้วค่ะ

การเตรียมตัวและเอกสารที่ต้องใช้การตรวจเลือก
  1. ใบสำคัญ (แบบ สด.9)
  2. หมายเกณฑ์ หรือหมายเรียก (แบบ สด.35)
  3. บัตรประจำตัวประชาชน
  4. ใบสำเร็จการศึกษา ปริญญาบัตร
  5. ใบรับรองแพทย์ (กรณีที่ทำเรื่องยกเว้น)
  6. การแต่งกาย ให้แต่งกายแบบสบายๆ ค่ะ เสื้อยืด กางเกงขาสั้น ลากรองเท้าแตะได้เลย เพราะจะมีขั้นตอนของการวัดขนาดร่างกาย ซึ่งต้องถอดเสื้อ ดึงกางเกงขึ้นเหนือหัวเข่า
  7. ไปรายงานตัวตามสถานที่ที่กำหนด ก่อนเวลา 7 โมงเช้าค่ะ

ในการตรวจเลือกจะมีการจับสลากใบดำ-ใบแดงค่ะ ถ้าได้ใบดำ ก็จะมีเสียงเฮจากกองเชียร์ค่ะ คือ “ปล่อย” ไม่ต้องเป็นทหาร แต่ถ้าได้ใบแดง ก็ตรงกันข้ามค่ะ คือต้องรับราชการทหาร

 เรียนจบเทียบชัั้นอุดมศึกษาจากเมืองนอก(ในสถาบันที่กระทรวงศึกษาธิการไทยรับรอง) –> จับได้ใบแดง —> เป็นทหาร 1 ปี 

และเขามีการให้สมัครใจเข้ารับราชการทหารด้วยค่ะ สำหรับคนที่ไม่ชอบลุ้น หรือใจอยากเป็นทหารอยู่แล้ว ระยะเวลาที่ต้องรับราชการทหารสำหรับคนที่สมัครก็สั้นกว่าคนที่โดนจับได้ใบแดงกันครึ่งต่อครึ่งเลยค่ะ และสำหรับคนที่เรียนจบจากเมืองนอก ก็สามารถใช้วุฒิการศึกษา เพื่อขอสิทธิในการลดวันรับราชการทหารลงด้วยค่ะ

 เรียนจบเทียบชั้นอุดมศึกษาจากเมืองนอก(ในสถาบันที่กระทรวงศึกษาธิการไทยรับรอง) –> สมัครใจรับราชการทหาร —> เป็นทหาร 6 เดือน 

เมื่อผ่านการตรวจเลือกแล้ว จะได้รับเอกสารที่เรียกว่า  ใบรับรองผลการตรวจเลือกทหาร (แบบ สด. 43)  ให้มาเก็บไว้ค่ะ ซึ่งใบนี้สามารถใช้เป็นหลักฐานในการสมัครงานที่เมืองไทยได้ค่ะ ว่าเราผ่านการตรวจเลือกแล้ว

แต่ถ้าใครที่จับได้ใบแดง หรือสมัครใจเข้ารับราชการทหาร เมื่อปลดประจำการแล้ว ก็จะกลายเป็นทหารกองหนุน และได้รับเอกสารรับรองจากทางการค่ะ เรียกว่า  สมุดประจำตัวและใบสำคัญของทหารกองหนุน (สด.8)  ค่ะ

๔. การเรียกกำลังพลของทหารกองหนุน

ทหารกองหนุนมี 3 ประเภทค่ะ

  1. ทหารกองหนุนประเภท 1 —> โดนเกณฑ์ทหาร จับได้ใบแดง หรือสมัครใจเป็นทหาร พอฝึกครบแล้ว ปลดประจำการเป็นทหารกองหนุนประเภทที่ 1 ค่ะ
  2. ทหารกองหนุนประเภท 2 –> ไม่โดนเกณฑ์ทหาร จับได้ใบดำ –> จัดเป็นทหารกองเกิน จนอายุ 30 ปี จะถูกปลดไปเป็นทหารกองหนุนประเภทที่ 2 ค่ะ
  3. ทหารกองหนุนประเภท 3 –> ชายไทยที่อายุ 40 ปีบริบูรณ์ขึ้นไปค่ะ

ทุกปี ทางการเขาจะมีการสุ่มเรียกกำลังพลสำรองค่ะ โดยคนที่เป็นทหารกองหนุนทั้งประเภทที่ 1 และประเภทที่ 2 จะโดนสุ่มเรียกให้ไปเข้ารับการทบทวนการฝึก การเรียกกำลังพลนี้ บางครั้งเรียกเพื่อตรวจสอบ ก็กินเวลาแค่วันเดียวค่ะ บ้างก็เรียกไปทบทวนการฝึกกำลังสำรองเลย อันนี้กินเวลา 2 เดือนค่ะ — แต่ถ้าผู้ถูกเรียกอยู่เมืองนอก สามารถมอบหมายให้ญาติไปยื่นเรื่องที่สัสดีอำเภอเพื่อขอผ่อนผันได้ค่ะ โดยแจ้งเหตุจำเป็นทำให้ไม่สามารถมารวมพลได้ตามจดหมายเรียก ควรแจ้งภายหลังจากได้รับจดหมายไม่เกิน 30 วันนะคะ — ถ้าไม่ไปและไม่แจ้งต่อทางการถือว่ามีความผิดนะคะ


 ชายไทยจะหมดภาระการเป็นทหาร (ปลดประจำการ) เมื่ออายุ 46 ปี 

อบรม

กิติกรรมประกาศ

๑. ขอบคุณวิทยากรจากสำนักงานอัยการสูงสุดที่มาบรรยายให้ความรู้ และสมาคมสยามที่จัดงานดีๆ ในครั้งนี้ขึ้นค่

๒. ขอบคุณพระ และเจ้าหน้าที่อาสาสมัครของวัดพระพุทธวิหาร อัมสเตอร์ดัมค่ะ สถานที่จัดงาน และมีเลี้ยงอาหารกลางวันอร่อยๆ แก่ผู้ร่วมงานอบรมด้วยค่ะ — นอกจากจะได้ความรู้แล้ว ยังอิ่มท้องอีกด้วย

๓. รูปภาพสวยๆ ที่ใช้ในบทความชิ้นนี้ ถ่ายโดยพี่ปู สุกานดา ศรีเสน่ห์พร ค่ะ ขอบคุณพี่ปูด้วยค่ะ

เอกสารอ้างอิง และลิงก์ที่น่าสนใจ

๑. “ข้อควรรู้ของคนไทยในต่างแดน เรื่อง ที่ดิน บุตร และการเกณฑ์ทหาร”, สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคุ้มครองสิทธิประชาชนระหว่างประเทศ สำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน (สคช.) สำนักงานอัยการสูงสุด, ๒๕๕๙

๒. http://sassadee.rta.mi.th/ –> เป็นเว็บไซต์ของกองการสัสดี โดยตรงเลยค่ะ มีทุกเรื่องที่สงสัยเกี่ยวกับการเกณฑ์ทหาร

๓. http://www.thaiembassy.org/hague/th/services/62229-Military-Service-Postponement.html —> เว็บไซต์ของสถานทูตไทย ณ กรุงเฮก ค่ะ เรื่องเอกสารที่ต้องใช้ในการทำเรื่องขอผ่อนผันการตรวจเลือกเข้ารับราชการทหาร ในกรณีที่ผู้ร้องกำลังเรียนอยู่ ณ ประเทศเนเธอร์แลนด์

๔. https://sac.kku.ac.th/servicesac/mddata/8.pdf –> อันนี้เป็นโบรชัวร์ สรุปเอกสารที่ต้องใช้ คุณสมบัติต่างๆ ในขั้นตอนต่างๆ ของการเกณฑ์ทหารค่ะ สรุปได้สั้น กระชับดีมากเลยค่ะ