รักกัน รักกัน…แต่งงานกันนะ (แต่งงานที่ฮอลแลนด์) – 1

คู่ของออยแต่งงาน จดทะเบียนสมรสกันที่ฮอลแลนด์ค่ะ เหตุผลคือเรื่องของครอบครัวล้วนๆ เลยค่ะ คือครอบครัวทางฝ่ายสามีของออยจะสนิทกันมากกว่าครอบครัวของออย และพ่อของสามีก็เพิ่งเสียไปด้วย การจัดงานแต่งงานครั้งนี้ จึงถือเป็นการรวมญาติไปในตัว หลังจากครั้งสุดท้ายที่เจอกันที่งานศพพ่อสามี ซึ่งมีแต่ความโศกเคร้า ครั้งนี้ก็จะได้รวมกัน แบบมีความสุขกันบ้าง

แต่งงานที่ฮอลแลนด์ ยุ่งยาก และใช้เวลานานมากกว่าที่เมืองไทยค่ะ ค่าใช้จ่ายก็มากกว่าด้วย

การแต่งงานในความหมายในบทความนี้ คือการจดทะเบียนสมรส นะคะ เพราะมีคนไทยหลายคู่ที่จัดพิธีแต่งงานอย่างยิ่งใหญ่ แต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส มีความผูกพันกันทางกฏหมาย แต่สำหรับคนดัตท์แล้ว การแต่งงาน หมายถึง การจดทะเบียนสมรสกันเท่านั้นค่ะ แต่จะมีงานเลี้ยงหรือไม่นั่น ก็แล้วแต่แต่ละคู่รักจะตัดสินใจ

เริ่มต้นเมื่อตัดสินใจที่จะแต่งงานกันที่ฮอลแลนด์ เอกสารที่เราจะต้องเตรียมมาจากเมืองไทย มีดังนี้

1. ใบรับรองโสด – แปลและรับรองเอกสารจากสถานกงสุล และสถานทูตเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทยให้เรียบร้อยค่ะ ใบรับรองโสด สามารถขอได้จากที่ว่าการอำเภอที่เรามีภูมิลำเนาอยู่ค่ะ ต้องขอด้วยตัวเองนะคะ

*** ถ้ายังไม่เคยแต่งงานมาก่อน ในใบรับรองโสดต้องระบุข้อความประมาณนี้ด้วยนะคะว่า “จากข้อมูลในทะเบียนราษฏร์ ไม่พบว่าบุคคลนี้ มีการจดทะเบียนสมรสมาก่อน” ไม่งั้นทางอำเภอที่ฮอลแลนด์ จะไม่ยอมค่ะ จะทำให้เราต้องเสียเวลาไปทำเรื่องมอบอำนาจที่สถานทูตไทยในกรุงเฮก เพื่อให้คนที่บ้านเราไปเอามาให้อีกรอบ และต้องเอาไปแปล รับรองเอกสารอีกครั้ง เสียเวลามากเลยค่ะ

2. สูติบัตร – แปลเป็นภาษาอังกฤษ และรับรองเอกสารจากสถานกงสุล และสถานทูตเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทยให้เรียบร้อยเช่นกันค่ะ

ขอแนะนำว่า ขั้นตอนการแปล และรับรองเอกสารที่สถานกงสุล เผื่อเวลาไว้สักหนึ่งอาทิตย์ แล้วจ้างเขาทำเถอะค่ะ ถ้าเราทำเอง จะเสียเวลากับการรอนานมาก รอทั้งวัน ไม่ได้ทำอะไรเลย เราทำแค่ขั้นตอนสุดท้าย คือนำเอกสารไปประทับตราที่สถานทูตก็พอค่ะ

3. แนะนำว่า เตรียมชุดเจ้าสาว ชุดเจ้าบ่าว แหวน รองเท้า ที่จะใช้ในวันงานแต่ง ไปจากเมืองไทยเลยค่ะ ของบ้านเราถูกกว่าที่ฮอลแลนด์เยอะ

*** ออยซื้อชุดเจ้าสาวที่นี่ค่ะ http://22jan.com/  (ชุดเจ้าสาวที่ออยใช้ ราคาแค่ 1900 บาทเอง แต่สวย ปลื้มค่ะ) – ที่ต้องซื้อเพราะระยะเวลากระบวนการในการทำเรื่องขอแต่งงานนานมาก ดังนั้นคงไม่มีใครให้เช่าชุดนานๆ แน่

4. ขอวีซ่าค่ะ ขอเป็นเชงเก้นวีซ่า หรือวีซ่าท่องเที่ยวนี่แหละค่ะ ดัตท์เขาไม่มีวีซ่าคู่หมั้น หรือวีซ่าแต่งงานเหมือนบางประเทศ และควรขอไปเต็มที่ทั้ง 90 วันเลยนะคะ

*** และถึงเเม้ว่าได้วีซ่ามาเต็ม 90 วัน ก็ต้องทำใจเผื่อไว้ด้วยนะคะ ว่าอาจจะไม่ได้แต่งงานในช่วงระยะเวลา 90 วันที่ไปนี้ ออยได้รับการเตือน มาจากทั้งข้อมูลในเวปไซค์ และเจ้าหน้าที่ที่ town hall และเจ้าหน้าที่สถานทูตไทยประจำเนเธอร์แลนด์ ว่าอาจจะแต่งงานไม่ทันระยะเวลาวีซ่า — แต่ของออยโชคดีที่แต่งงานได้ทันก่อนกลับไทย 3 อาทิตย์!!!

5. passport ค่ะ — อันนี้ยังไงก็ติดตัวเราอยู่แล้วเนอะ เมื่อเดินทางไปต่างประเทศ

6. ใบเปลี่ยนชื่อ (ถ้ามี) นำไปแปลเป็นภาษาอังกฤษ และรับรองเอกสารจากสถานกงสุล และสถานทูตเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทยให้เรียบร้อยค่ะ

7. ใบหย่า (ุถ้ามี) เช่นกันค่ะ แปลเป็นภาษาอังกฤษ และรับรองเอกสารจากสถานกงสุล และสถานทูตเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทยให้เรียบร้อยค่ะ

8. ใบทะเบียนสมรสครั้งก่อน (ถ้ามี) สำหรับคนเคยจดทะเบียนสมรส และหย่าไปแล้ว ในบางอำเภอไม่พอใจแค่ใบหย่าที่เรานำยื่นให้เขาค่ะ บางที่เขาขอใบจดทะเบียนสมรสครั้งก่อนด้วย ซึ่งเช่นกันค่ะ เราต้องขอคัดสำเนาที่อำเภอ และแปลเป็นภาษาอังกฤษ และรับรองเอกสารจากสถานกงสุล และสถานทูตเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทยค่ะ (เคยคุยกับเจ้าหน้าที่ เขาบอกว่ามันจะมีผลกับเรื่องของสินสมรส และมรดกของฝ่ายหญิงน่ะคะ นี่คือเหตุผลที่เขาต้องรอบคอบไว้ก่อน เพราะเขาไม่มีข้อมูลทะเบียนราษฏร์ของฝ่ายไทยอยู่ในมือ ดังนั้นเขาจึงเรียกร้องข้อมูลของผู้หญิงให้ครอบคลุมค่ะ)

เมื่อมาถึงฮอลแลนด์ รีบไป town hall ในวันรุ่งขึ้นเลยค่ะ ไปทำเรื่องขอแต่งงาน ซึ่งเจ้าหน้าที่เขาจะให้เรากรอกแบบฟอร์ม M46 และขอดูเอกสารต่างๆ ของเรา โดยเอกสารของฝ่ายชาย มีเพียงแค่ passport อย่างเดียวเลยค่ะ

M46 เป็นการเช็คเบื้องหลังของคู่รักค่ะ เพื่อให้แน่ใจว่าไม่ใช่การจ้างแต่งงาน หรือแต่งงานหลอก เพราะอีกฝ่ายอยากมาอยู่ฮอลแลนด์ ผู้พิจารณาคือ IND หรือกระทรวงการต่างประเทศของเนเธอร์แลนด์ค่ะ ระยะเวลาที่ใช้ในการพิจารณาประมาณ 3-8 สัปดาห์ (แต่บางคู่ก็ลากยาวไปเป็นหลายเดือนก็มี) กระบวนการนี้ เป็นกระบวนการเฉพาะของคู่รักที่อีกฝ่ายเป็นคนต่างชาติเท่านั้นค่ะ

*** M46 เป็นอะไรที่ทรมานใจมากเลยค่ะ เราไม่สามารถทำอะไรได้ นอกจากรอ ไม่สามารถไปเร่งรัดเจ้าหน้าที่ town hall ด้วย เพราะเขาเองก็ไม่รู้ว่าจะทำไงเหมือนกัน และถ้ายังไม่เกินกำหนดเวลา คือ 8 สัปดาห์ เราก็ต้องรอค่ะ เพราะยังอยู่ในระยะเวลาทำงานของเขา — ของออยใช้เวลาประมาณ 6 อาทิตย์ค่ะ

*** เอกสารที่ยื่นของออยมีปัญหาค่ะ ก็ใบรับรองโสดนั่นแหละค่ะ ที่ไม่มีประโยค “สำคัญ” นั้น เจ้าหน้าที่เลยบอกว่า ระหว่างนี้ เขาจะยื่น M46 ไปให้ IND พิจารณาก่อน และให้เราไปทำเรื่องขอใบรับรองโสดมาใหม่ — เครียดเลยค่ะ

กระบวนการต่อไป จะดำเนินต่อได้ ก็ต่อเมื่อ ผลของ M46 เป็น positive เท่านั้นค่ะ — ถ้าผลเป็น negative เขาก็จะให้เหตุผลค่ะ เราก็หาทางอุทรณ์กันไป หรือไม่ก็เปลี่ยนแผน กลับไปแต่งงานที่ไทยดีกว่า เพราะไม่มีใครมาตรวจอะไรอย่างนี้

ถ้าผล M46 เป็นบวก เจ้าหน้าที่จะโทรมาบอกเราค่ะ และคู่ของเราก็จะเข้าสู่กระบวนการ ondertrouw ค่ะ

กระบวนการ ondertrouw นี้ คล้ายๆ กับการประกาศว่า คู่รักคู่นี้ กำลังจะแต่งงานกันนะ มีใครจะขัดข้องบ้าง คล้ายกับช่วงเวลาของการหมั้นทำนองนี้ค่ะ ondertrouw จะใช้เวลาประมาณ 2 อาทิตย์ ถึง 6 เดือน แล้วแต่ความพร้อมของคู่รัก กระบวนการนี้ คู่แต่งงานทุกคู่ต้องทำค่ะ ไม่ว่าจะเป็นคู่คนดัตท์ชาติเดียวกัน หรือคู่คนดัตท์กับต่างชาติ

*** แน่นอนที่สุด คู่ของออยขอใช้เวลา ondertrouw 2 อาทิตย์พอ เนื่องจากกลัวจะไม่ทัน และทางเราเองก็ได้เตรียมทุกอย่างมาพร้อมแล้ว

เจ้าหน้าที่จะโทรมาเเจ้งผล M46 กับเรา พร้อมกันนั้นก็ถามด้วยว่า เราจะทำการ ondertrouw นานแค่ไหน และวางแผนว่าจะแต่งงานเมื่อไร เขาจะดูคิวของห้องแต่งงานให้ค่ะ ซึ่งที่ town hall จะมีห้องอยู่ห้องหนึ่งค่ะ เอาไว้สำหรับจัดงานแต่งงานโดยเฉพาะ โดยในการนี้ เขาก็จะนัดวันเพื่อที่ให้เราไปพบเพื่อยื่นแบบฟอร์ม ที่เขาจะส่งมาให้เรากรอกทางไปรษณีย์ค่ะ — แบบฟอร์มที่ว่านี้ จะถามเกี่ยวกับเรื่องส่วนตัวต่างๆ ของเราค่ะ เช่นชื่ออะไร รู้จักกันได้อย่างไร ฯลฯ รวมถึงขอรายชื่อ และสำเนาบัตรประชาชน หรือ passport ของบุคคลที่จะมาเป็นพยานในงานแต่งด้วย

เมื่อถึงวันนัด เราก็ไปพบเจ้าหน้าที่ นำเเบบฟอร์มที่เรากรอกไว้เเล้วนั้นไปมอบให้เจ้าหน้าที่ค่ะ และจ่ายค่าธรรมเนียมการแต่งงานค่ะ แต่ละเมืองค่าธรรมเนียมจะไม่เท่ากัน ของออย ที่เมือง Eindhoven ออยจ่ายไป 421 ยูโรค่ะ และค่า trouwbook  อีก 36.10 ยูโร — ค่าธรรมเนียมนี้ นอกจากขึ้นอยู่กับแต่ละเมืองแล้ว ยังขึ้นอยู่กับแต่ละวันด้วยค่ะ วันหยุดเสาร์-อาทิตย์ จะราคาแพงขึ้นมานิดหนึ่ง

trouwbook – คือสมุดเล็กๆ ค่ะ ขนาดประมาณสมุดพกเล่มยาวๆ ปกหนัง หรือกำมะหยี่ ขึ้นกะราคา ข้างในก็เขียนว่า ชื่อคู่รัก แต่งงานกันวันที่นี้นั้น และที่หน้าที่เหลือก็เป็นที่ให้เติมชื่อลูกๆ ที่เกิดจากสองคนนี้ค่ะ

ในวันนั้น เจ้าหน้าที่จะให้เราเลือกด้วยนะคะ ว่าเราต้องการจะเปลี่ยนมาใช้นามสกุลของฝ่ายชายไหม หรือจะเอานามสกุลสามีมาไว้เป็นชื่อกลาง (อันนี้สาวดัตท์เขานิยมกันค่ะ) หรือจะไม่เปลี่ยนอะไรเลย — ออยเลือกที่จะไม่เปลี่ยนอะไรเลยค่ะ ยังคงใช้ชื่อ นามสกุลเดิม เนื่องจากหากเปลี่ยนนามสกุล เมื่อกลับมาเมืองไทย ต้องไปทำเรื่องเปลี่ยนสกุลในบัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน และ passport แถมต้องเอาใบเปลี่ยนนามสกุลนี้ ไปแปล รับรองเอกสาร พกติดตัวไปทุกที่เมื่อเดินทางไปต่างประเทศ — ยุ่งยากกะชีวิตออยค่ะ ออยเป็นคนขี้รำคาญ เลยไม่เปลี่ยนดีกว่า

สำหรับคู่รักเพศเดียวกัน สถานทูตไทยแนะนำค่ะ ว่า “อย่าเปลี่ยนนามสกุล” ให้คงนามสกุลไทยไว้ เพราะกฏหมายไทยยังไม่รองรับการแต่งงานของเพศเดียวกัน ดังนั้นคุณจะไม่สามารถกลับมาทำเรื่องขอเปลี่ยนนามสกุลเนื่องจากแต่งงานที่เมืองไทยได้ค่ะ

ก่อนถึงวันแต่งงาน ก็มีนัดอีกครั้งค่ะ กับเจ้าหน้าที่ที่จะทำหน้าที่เป็นพิธีกรในงาน พิธีกรงานเเต่งงานเป็นงานอาสาสมัครค่ะ ส่วนใหญ่จะเป็นข้าราชการที่เกษียณแล้ว แล้วมาทำหน้าที่ตรงนี้ พิธีกรจะมาซักซ้อมกับคู่รักค่ะ ว่าจะให้งานออกมาในรูปแบบไหน คู่รักรู้จักกันได้อย่างไร อะไรที่ทั้งคู่ประทับใจในกันและกัน ทั้งหมดนี้เขาต้องการให้งานออกมาเป็นที่ประทับใจค่ะ

เเละแล้ว ก็ถึงวันแต่งงาน…จะจัดเล็กๆ หรือยิ่งใหญ่ ก็แล้วแต่ละคู่ล่ะค่ะ

จากทั้งหมดจะเห็นได้ว่า จัดงานแต่งที่ฮอลแลนด์ช่างยุ่งยาก และใช้เวลา และเงินกว่าที่เมืองไทยมากค่ะ คู่ของออยใช้เวลาประมาณ 8 อาทิตย์กว่า กว่าจะได้แต่งงานกัน…เฮ้อ!

ปล. ฮอลแลนด์มีการแต่งงานหลายแบบค่ะ (มีทั้งหมด 3 แบบ) ทั้งหมดที่ออยเล่ามานี้ คือการแต่งงานเเบบที่เทียบเท่ากับการแต่งงานในประเทศไทยนะคะ บทความหน้า ออยจะเล่าถึงการอยู่ด้วยกันแบบต่างๆ ในฮอลแลนด์ค่ะ

 

1052730_622366814455090_280490787_o

 

 

 

One thought on “รักกัน รักกัน…แต่งงานกันนะ (แต่งงานที่ฮอลแลนด์) – 1

Comments are closed.