หนังสือชื่อ : The low sky, understanding the dutch
ผู้แต่ง : Han van der Horst
สำนักพิมพ์ : Scriptum
เนื่องด้วยตั้งแต่ย้ายมาอยู่เนเธอร์แลนด์ ได้สัมผัสถึงความแตกต่างทั้งทางวัฒนธรรม วิถีชีวิต และความคิด แต่ก็จะไม่เข้าใจว่าทำไมคนดัตช์จึงคิด จึงกระทำเช่นนั้น — หนังสือเล่มนี้ดูเหมือนจะเป็นคำตอบค่ะ
ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้เป็นคนดัตช์ค่ะ แต่เขียนหนังสือเป็นภาษาอังกฤษ จุดประสงค์เพื่อจะสื่อสารให้คนต่างชาติเข้าใจวิธีคิด เบื้องหลัง พื้นเพที่มาของความคิดนั้นของคนดัตช์ค่ะ
โครงสร้างของหนังสือเริ่มจากบทนำ ที่กล่าวว่า สถาบันทางการศึกษาของดัตช์แห่งหนึ่ง (Royal Tropical Institute) ได้ทำการศึกษาพื้นเพนิสัยของคนดัตช์ และสรุปออกมาสั้นๆ ได้ 5 คำ คือ “egalitarian, utilitarian, organized, trade-oriented, privacy-minded” หรือแปลว่า “ยึดหลักในความเสมอภาคของมนุษย์ทุกคน, ถือประโยชน์ส่วนรวมเป็นสำคัญ, เป็นระบบ, หัวการค้า และ ถือความเป็นส่วนตัว” — นี่คือนิสัยคนดัตช์โดยรวมค่ะ
ยึดหลักในความเสมอภาคของมนุษย์ทุกคน (egalitarian)
— คนดัตช์มี motto ที่ใช้กันอยู่เสมอคือ “doe maar gewoon, dan doe je gek genoeg.” ออยแปลเองขำๆ ว่า “ทำตัวปกติเถอะ แค่นั้นแกก็แปลกพออยู่แล้ว”
คนดัตช์ไม่ค่อยมีลำดับชั้นทางสังคมแตกต่างกันมากนัก แม้แต่กษัตริย์เอง ถึงแม้จะมีการให้เกียรติมากกว่าปกติ แต่ก็นิดหน่อยค่ะ วังของกษัตริย์ก็ไม่ได้หรูหราอะไรมากเมื่อเทียบกับวังของราชวงศ์ข้างเคียง — การอวดรวยในสังคมดัตช์ก็เป็นสิ่งที่ไม่ค่อยมีใครทำกันค่ะ
ถือประโยชน์ส่วนรวมเป็นสำคัญ (utilitarian)
— เนื่องด้วยประเทศเนเธอร์แลนด์มีพื้นที่ที่อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลค่ะ คนดัตช์จึงต้องต่อสู้กับระดับน้ำทะเล เพื่อรักษาพื้นดินไว้ ดังนั้นจึงต้องถือประโยชน์ส่วนรวมเป็นสำคัญไปโดยอัตโนมัติ เพราะถ้าไม่ช่วยกัน มั่วแต่ริษยา ขัดขากันไปมา น้ำก็ท่วมจมกันไปทั้งหมดพอดี — ข้อนี้เลยกลายเป็นนิสัยของคนประเทศนี้ไปค่ะ
เป็นระบบ (organized)
— ผู้เขียนเล่าว่า เนื่องด้วยการรักษาพื้นดินไม่ให้จมใต้ทะเล จำเป็นต้องใช้วิศกรรมที่ซับซ้อน เช่น การสร้างเขื่อน กังหันลม หรือปั๊ม ซึ่งต้องเป็นการทำงานร่วมกันของหลายๆ คน ดังนั้นจึงต้องมีการจัดการที่ดี — การจัดการที่มีระบบเลยกลายเป็นนิสัยของคนดัตช์ไปเลยค่ะ
หัวการค้า (trade-oriented)
— ดัตช์เป็นชาติพ่อค้ามาแต่ไหนแต่ไรแล้วค่ะ ผู้เขียนแสดงให้เห็นว่า เช่นจากเดิมที่คนดัตช์ออกเรือไปหาปลา เอาปลามาขายในตลาด แต่ปัจจุบันดัตช์พยายามมุ่งนั้นให้ตัวเองเป็นศูนย์กลางในการขายปลามากกว่าหาปลามาขายเอง — หัวการค้าไหมล่ะคะ — เป็นพ่อค้าคนกลางใช้สมองมากกว่า แต่ได้เงินมากกว่าคนหาปลาเอง
เนื่องด้วยวัฒนธรรมแบบนี้ เครดิตจึงเป็นเรื่องสำคัญค่ะ สำหรับคนดัตช์แล้ว การถูกศาลสั่งล้มละลาย หรือเป็นคนล้มละลาย เป็นเรื่องใหญ่ค่ะ เพราะเป็นเรื่องของเครดิต ดังนั้นคนดัตช์จึงค่อนข้างระมัดระวังกับการใช้เงิน จะไม่ค่อยเห็นคนดัตช์ใช้บัตรเครดิตรูดซื้อสินค้า ส่วนใหญ่จะใช้เดบิตค่ะ — นิสัยไม่ชอบเป็นหนี้นี้ ไม่ได้เป็นแต่คนดัตช์ปกตินะคะ ระดับรัฐบาลก็เป็นค่ะ รัฐบาลดัตช์มีหนี้น้อยกว่ารายได้มากค่ะ
ถือความเป็นส่วนตัว (privacy-minded)
— อันนี้ดูจะแตกต่างกับวัฒนธรรมไทยมากที่สุดค่ะ คนดัตช์ไม่ชอบสร้างความรำคาญให้คนอื่นด้วยเรื่องส่วนตัวของตนเอง เช่น คนแก่ดัตช์ ก็จะพยายามช่วยตัวเองให้ได้มากที่สุด อาจจะมีลูกหลานแวะมาเยี่ยม แต่ถึงขั้นเลี้ยงดู อยู่ดูแล แบบสังคมไทย อันนี้ไม่มีค่ะ
ออยก็เคยประสบกับนิสัยไม่เปิดเผยอารมณ์ของคนดัตช์ แล้วก็เกิดอาการงงไปเลย คือได้คุยกับลูกค้าของสามีน่ะค่ะ แล้วเขาก็เล่าให้ฟังถึงอาการป่วยของแม่ของเขา คาดการณ์ด้วยว่า แม่เขาไม่น่าจะมีชีวิตอยู่จนถึงสิ้นปีนี้ — เล่าแบบหน้าตาเฉยๆ (ก็ไม่ได้หวังให้มีเสียงเครือๆ อะไรนะคะ แต่คาดหวังว่าจะทำหน้าเศร้าๆ สักหน่อย จะได้ช่วยแสดงความเสียใจ อะไรทำนองนี้) — ไม่ค่ะ พี่แกเล่าเหมือนเล่าเรื่องดินฟ้าอากาศท้่วๆ ไป ด้วยน้ำเสียง โทน สีหน้า แทบจะทำให้เข้าใจผิดได้เลย ว่าเขาอยากให้แม่เขาตาย เหอ เหอ — ทั้งที่จริงๆ แล้ว เขารักแม่และสนิทกับแม่ของเขามาก
เนื่องด้วยคนดัตช์ไม่เปิดเผยอารมณ์ส่วนตัวแบบนี้ และไม่รุกล้ำความเป็นส่วนตัวของคนอื่นเช่นกัน ดังนั้นคนดัตช์จึงจะไม่ให้ความช่วยเหลือคนอื่นค่ะ ถ้าเขาไม่ได้ร้องขอ (เพราะกลัวว่าจะไปรุกล้ำความเป็นส่วนตัวของเขา) — ก็พอกันเลย — เช่น ปัญหาของผู้อพยพที่ย้ายเข้าอยู่เนเธอร์แลนด์ พวกเขาต้องสอบภาษาดัตช์ระดับพื้นฐานให้ผ่าน แต่มันยากสำหรับบางคนไงค่ะ ผู้อพยพก็ไม่รู้จะขอความช่วยเหลืออย่างไร ส่วนคนดัตช์เองก็ไม่กล้าเข้าไปช่วย เพราะเขาไม่ได้ขอ
และด้วยความที่คนดัตช์เป็นคนใจกว้างนี้ การโจมตีคนอื่นด้วยเรื่องส่วนตัว (เช่น เขาเป็นเกย์ รสนิยมการแต่งกาย อาหาร) จึงเป็นเรื่องที่รับไม่ได้โดยสิ้นเชิงค่ะ
บทสุดท้ายของหนังสือเป็นบทสรุปค่ะ เล่าถึงปัญหาของประเทศเนเธอร์แลนด์ ความขัดแย้งในอดีต ปัจจุบัน และคาดการณ์ว่า ความขัดแย้งในปัจจุบันที่มีอยู่นี้ จะเริ่มบานปลายใหญ่ขึ้นในอนาคตอันใกล้ เช่น xenophobia ความกลัวคนมุสลิม จนกลายเป็นการเหยียดชาติพันธุ์ไป ความกลัวการหลั่งไหลมาของผู้อพยพจากชาติมุสลิม — สิ่งเหล่านี้จะยิ่งเพิ่มขึ้นๆ ค่ะ
ในบทนี้หนังสือได้กล่าวถึง ช่วงเวลาที่รุ่งเรืองของดัตช์ ที่เกิดจากการค้าทาส (อ่านแล้วโมโหหน่อยๆ เลยค่ะ — แบบพี่แกค้ามนุษย์ และปฏิบัติกับพวกเขาไม่ต่างจากวัวควาย ซึ่งกลายมาเป็นบาดแผลอันเจ็บปวดของคนผิวดำในปัจจุบัน) หรือช่วงเวลาที่ดัตช์มีอาณานิคม และยุคปลดปล่อยอาณานิคม — คือ คนเขียนเป็นคนดัตช์นะคะ เขาอาจจะพยายามเขียนให้เป็นกลางที่สุดแล้ว แต่ก็ยังมีโทนของการปกป้องประเทศตัวเองอยู่ค่ะ
ส่วนตัวคิดว่า หนังสือเล่มนี้อ่านยากค่ะ คือถ้าไม่ได้คุ้นเคย หรือใช้ชีวิตอยู่ในยุโรปมาสักระยะ จะอ่านไปก็งงไปกับชื่อคน หรือเหตุการณ์ต่างๆ อ่านไปก็ต้องพึ่ง google ค้นหารายละเอียดของชื่อ หรือเหตุการณ์สำคัญๆ ที่เกิดขึ้นที่ผู้เขียนยกมาเล่าแค่สั้นๆ แต่ไม่ได้ให้รายละเอียด
แนะนำว่า ถ้าจะอ่าน ให้อ่านบทแรกที่เป็น บทนำ (Introduction) ก่อนค่ะ จากนั้นก็พลิกไปอ่านบทสุดท้าย เพราะอันนั้นจะเล่าประวัติศาสตร์ของประเทศเนเธอร์แลนด์โดยเรียงตามลำดับเหตุการณ์ จะได้ไม่งง จากนั้นค่อยมาอ่านบทที่ 2,3,4 … ต่อไปตามปกติค่ะ