การขอสัญชาติดัตช์ — Naturalisatie

สืบเนื่องมาจากช่วยเพื่อนหาข้อมูลเรื่องการขอสัญชาติดัตช์ค่ะ ก็เลยคิดว่าไหนๆ ก็อ่านเรื่องนี้แล้ว แถมมีบางข้อความไม่เข้าใจ ก็ไปรบกวนถามพี่แป๋ว ล่ามและนักแปลแห่ง Thai voor Taal ด้วย เลยคิดว่าอย่าให้ความรู้นี้เสียเปล่าหยุดอยู่แค่เรา เอามาเขียนเป็นบทความใน @Dutchthingy ซะดีกว่า เผื่อเป็นประโยชน์แก่คนอื่นๆ ด้วยค่ะ — ทั้งหมดนี้เป็นการอธิบายตามที่อ่านเข้าใจนะคะ แต่มีอ้างอิงพร้อมค่ะ

 การถือสัญชาติดัตช์ 

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนค่ะว่า การจะมีสัญชาติดัตช์ได้นั้น เกิดขึ้นได้ 4 ทางค่ะคือ

1. มีสัญชาติดัตช์โดยกำเนิด (Nederlander door geboorte of erkenning) — คือแบบพ่อหรือแม่เป็นคนดัตช์น่ะค่ะ ลูกก็ได้สัญชาติดัตช์ไปด้วย โดยไม่สนใจว่าจะเกิดที่ประเทศใดก็ตามค่ะ ถ้าพ่อหรือแม่มีสัญชาติดัตช์ ลูกก็ได้สัญชาติดัตช์ไปด้วยค่ะ

2. โดยการขอสัญชาติดัตช์ (Naturalisatie) — อันนี้คือที่บทความตอนนี้จะอธิบายค่ะ เป็นการขอสัญชาติที่เราคนไทยที่อาศัยอยู่ในเนเธอร์แลนด์มีสิทธิที่จะขอได้ค่ะ

3. โดย Optie — สำหรับคนต่างชาติที่อาศัยอยู่เนเธอร์แลนด์นานๆ แล้วน่ะค่ะ — อันนี้ขอยกยอดไปเขียนเป็นบทความตอนถัดไปนะคะ

4. การถือสัญชาติดัตช์โดยอาศัยอยู่ในหมู่เกาะที่รัฐอาณานิคมของเนเธอร์แลนด์ อันได้แก่ เกาะ Aruba, Curaçao, Sint Maarten, Bonaire, Sint Eustatius และเกาะ Saba ค่ะ — ซึ่งอันนี้เราคนไทยส่วนใหญ่ก็ไม่เข้าข่ายค่ะ

สรุป : ดังนั้นบทความใน Dutchthingy จึงจะกล่าวถึงแค่การขอสัญชาติตามเงื่อนไขในข้อ 2. โดยการขอสัญชาติดัตช์ (Naturalisatie) และข้อ 3. โดย Optie นะคะ โดยบทความนี้จะกล่าวเฉพาะเงื่อนไขในข้อ 2. ก่อนค่ะ

 คุณสมบัติ 

  • อายุมากกว่า 18 ปี
  • อยู่อาศัยในเนเธอร์แลนด์มาไม่ต่ำกว่า 5 ปี *** ตรงนี้มันมีข้อยกเว้นอยู่ค่ะ คืออยู่เนเธอร์แลนด์แค่ 3 ปีก็ยื่นข้อได้ คลิกอ่านข้อยกเว้นตรงนี้ค่ะ ***
  • ในขณะที่ขอสัญชาตินั้น ถือบัตรผู้อยู่อาศัย (verblijfsvergunning) และยังไม่หมดอายุ คืออย่าทิ้งให้บัตรนี้ขาดอายุนะคะ ใกล้ๆ จะหมดอายุ 6 เดือนก็ต้องทำเรื่องต่ออายุเลยค่ะ
  • สอบผ่านอย่างต่ำ inburgering examen ค่ะ
  • ตลอดเวลา 4 ปีย้อนหลังที่อาศัยอยู่ในเนเธอร์แลนด์หรือในต่างประเทศเนี่ย ไม่เคยถูกพิพากษาต้องโทษจำคุกหรือถูกให้ลงอาญา สำหรับการก่อคดีอาชญากรรม ไม่ติดคดีอาญาที่ต้องจ่ายค่าปรับสูงๆ แบบสูงมากกว่า 810 ยูโร หรือสูงกว่า 405 ยูโร แต่รวมยอดค่าปรับทั้ง 4 ปีแล้ว เกิน 1,215 ยูโรค่ะ
  • ถ้าได้สัญชาติดัตช์ ต้องสละสัญชาติเดิมของตนค่ะ *** อันนี้ก็มีข้อยกเว้นเช่นกันค่ะ คลิกอ่านข้อยกเว้นได้ตรงนี้ค่ะ***
  • ถ้าได้สัญชาติดัตช์ ต้องไปร่วมพิธีรับสัญชาติค่ะ จัดที่ gemeente ที่เรามีชื่ออยู่ เพื่อแสดงถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันค่ะ
ลูกติดแม่ที่ตามมาอยู่ด้วยกันที่เนเธอร์แลนด์ และมีอายุขณะที่ยื่นขอสัญชาติน้อยกว่า 17 ปี ยื่นขอสัญชาติพร้อมกับแม่ไปในคราวเดียวกันได้เลยค่ะ (มันมีรายละเอียดย่อยเรื่องอายุของเด็กอยู่นิดหน่อยค่ะ อ่านเพิ่มเติมตรงหัวข้อ Minderjarige kinderen ได้เลยค่ะ)

clogs รองเท้าไม้ดัตช์

 เอกสาร 

เอกสารที่ต้องใช้ในการยื่นขอสัญชาติได้แก่

  • พาสปอร์ตไทยของเรา (ที่ยังไม่หมดอายุ)
  • บัตรผู้อยู่อาศัยของเรา (verblijfsvergunning) ที่ยังไม่หมดอายุ
  • ใบสูติบัตร ที่แปลและรับรองเอกสารแล้ว (เอาใบเก่าที่ยื่นไว้ตั้งแต่สมัยมาอยู่เนเธอร์แลนด์ใหม่ๆ น่ะค่ะ ไม่ต้องไปแปลหรือขอรับรองใหม่หรอกค่ะ ใบเก่าก็ใช้ได้ค่ะ)
  • ประกาศนียบัตรว่าเราสอบผ่าน inburgering หรือสูงกว่าน่ะค่ะ (Inburgeringsdiploma)
  • เอกสารอื่นๆ เช่น ใบทะเบียนสมรส (ถ้าจดทะเบียนที่เมืองไทย) หรือเอกสารจด samenwonen เอาไปเผื่อๆ ค่ะ เพื่อยืนยันว่าเราอยู่ด้วยกันต่อเนื่อง 3 ปีจริงๆ

 ค่าใช้จ่าย 

การขอสัญชาติมีค่าใช้จ่ายค่ะ ถ้าขอสัญชาติคนเดียวก็อยู่ที่ 866 ยูโรค่ะ

ถ้ายื่นขอร่วมกันกับแฟน (ในกรณีที่แฟนของเราไม่ได้มีสัญชาติดัตช์น่ะค่ะ) อันนี้จ่าย 1,105 ยูโร

ถ้าแม่ยื่นขอสัญชาติพร้อมลูกติดแม่ไปด้วยกันเลย กรณีก็จ่ายค่าขอสัญชาติของลูกเพิ่มอีก 128 ยูโรค่ะ

ทั้งหมดนี้ยังไม่รวมค่าทำพาสปอร์ต และบัตรประชาชนดัตช์นะคะ — คือถ้าผลขอสัญชาติผ่าน ก็ต้องไปทำพาสปอร์ต อันนั้นจ่ายอีกคนละ 65 ยูโรสำหรับผู้ใหญ่ บัตรประชาชนดัตช์ก็คนละ 51 ยูโรค่ะ (ราคานี้เป็นราคาคร่าวๆ ค่ะ ราคาจริงแกว่งตามแต่ละ gemeente ค่ะ)

 ระยะเวลาพิจารณา 

เวลาเราทำเรื่องยื่นขอสัญชาติ เราไปยื่นขอที่ gemeente ที่เรามีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านค่ะ แต่หน่วยงานที่พิจารณาให้สัญชาติเราคือ IND ค่ะ — gemeente จะเป็นคนส่งเอกสารของเราให้ IND พิจารณา

IND จะใช้เวลาไม่เกิน 12 เดือนในการพิจารณาให้สัญชาติดัตช์แก่เราหรือไม่ค่ะ โดย IND จะส่งเป็นจดหมายมาหาเรา 2 ฉบับ จดหมายฉบับที่ 1 เนื้อหาในจดหมายจะบอกว่า ได้รับเอกสารคำร้องขอสัญชาติดัตช์ของเราจาก gemeente แล้ว และก็จะระบุระยะเวลาพิจารณาด้วยค่ะ ว่าเราจะรู้ผลไม่เกินวันที่เท่าไร

จดหมายฉบับที่ 2 จะเป็นจดหมายแจ้งผลพิจารณาการขอสัญชาติของเราค่ะ ถ้าโชคร้าย ผลเป็นในทางลบ ในจดหมายนั้น IND ก็จะชี้แจงเหตุผลให้ด้วยค่ะ ว่าทำไมเราจึงไม่มีคุณสมบัติที่จะได้รับสัญชาติดัตช์ในการขอครั้งนี้ ซึ่งถ้าเราไม่เห็นด้วยกับผลตรงนี้ ก็สามารถทำเรื่องคัดค้านได้ค่ะ — แต่ถ้าผลเป็นบวก ในจดหมายของ IND ก็จะบอกค่ะว่า เรื่องของเราได้ถูกส่งไปให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย จากนั้นเราก็ต้องรอจนกว่าจะได้รับจดหมายอีกฉบับจาก gemeente ค่ะ เป็นจดหมายเชิญให้เราไปร่วมพิธีรับสัญชาติค่ะ

*** จะนับว่าเราได้รับสัญชาติดัตช์อย่างเป็นทางการก็ต่อเมื่อ เราผ่านพิธีสาบานตนรับสัญชาติแล้วเท่านั้นค่ะ ***

ภาพการ์ตูนเด็กสาวดัตช์

สำหรับคนที่ไม่แน่ใจ คำแนะนำคือ ควรจะนัดกับ gemeente เพื่อขอคำปรึกษาเรืองการขอสัญชาตินี้ก่อนค่ะ นำเอกสารต่างๆ ไปให้เจ้าหน้าที่ดูด้วย ถ้าเจ้าหน้าที่เห็นควรว่าอยู่ในเงื่อนไขที่จะขอสัญชาติได้ จึงค่อยนัดเพื่อยื่นคำร้องขอสัญชาติอีกครั้งค่ะ วิธีนี้อาจจะยุ่งยาก แต่ก็เพิ่มความมั่นใจ และเราไม่ต้องเสียเงินเปล่า เพราะนัดขอคำปรึกษากับ gemeente ได้ฟรีค่ะ ไม่มีค่าใช้จ่าย

 ข้อยกเว้นไม่ต้องรอ 5 ปี 

  • แต่งงานคนสัญชาติดัตช์และอยู่ด้วยกันอย่างต่อเนื่อง 3 ปี เวลานี้นับรวมเวลาที่อยู่ด้วยกันนอกประเทศเนเธอร์แลนด์ด้วยนะคะ
    • เช่น สถานการณ์ที่ 1 : นางสาว A แต่งงานกับสามีดัตช์ (แต่งงานนี้ต้องแจ้งกับทางการเนเธอร์ด้วยนะคะว่าแต่งงานกัน) แล้วสามีทำงานต่างประเทศ ไม่ได้ทำงานที่เนเธอร์แลนด์ นางสาว A ก็ตามสามีไปอยู่ด้วยกัน ระยะเวลาที่อยู่ด้วยกันในต่างประเทศก็นับในช่วงเวลา 3 ปีนี้เช่นกันค่ะ ไม่จำเป็นต้องอยู่ด้วยกันที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ อยู่ด้วยกันที่ไหนก็ได้ค่ะ ขอแค่อยู่ด้วยกันครบ 3 ปี
  • อยู่ด้วยกันกับคนสัญชาติดัตช์คนเดิมอย่างต่อเนื่อง 3 ปี อันนี้ไม่จำเป็นต้องแต่งงานกันก็ได้นะคะ ถ้าอยู่ร่วมในทะเบียนบ้านเดียวกันกับแฟนคนดัตช์ที่การันตีให้เรามาอยู่เนเธอร์แลนด์อย่างต่อเนื่อง 3 ปี ก็มีสิทธิ์สามารถขอสัญชาติดัตช์ใน 3 ปีได้ค่ะ —
    • เช่น สถานการณ์ที่ 2 : นางสาว B ย้ายมาอยู่เนเธอร์แลนด์กับแฟนคนดัตช์ มาอยู่ด้วยกันเฉยๆ ไม่ได้ทำสัญญา samenwonen หรือแต่งงาน หรืออะไรทั้งนั้น แต่แฟนคนดัตช์เป็นคนการันตีให้มาอยู่ด้วยกัน และก็ชื่อในทะเบียนบ้านก็อยู่ด้วยกันค่ะ ในกรณีนี้ นางสาว B สามารถขอสัญชาติได้เมื่ออาศัยอยู่ที่เนเธอร์แลนด์ครบ 3 ปี และสอบผ่านอย่างต่ำ inburgering
    • เช่น สถานการณ์ที่ 3 : นางสาว C ย้ายมาอยู่เนเธอร์แลนด์กับแฟนคนดัตช์ มาอยู่ด้วยกันเฉยๆ ตอนแรกไม่ได้ทำสัญญาอะไรกันอย่างทางการค่ะ สถาการณ์เช่นเดียวกับนางสาว B แต่อยู่ไปอยู่มา ความรักสุขงอม แฟนขอแต่งงานในกรณีนี้ นางสาว C ก็สามารถขอสัญชาติได้เมื่ออาศัยอยู่ที่เนเธอร์แลนด์ครบ 3 ปี และสอบผ่านอย่างต่ำ inburgering โดยไม่ต้องสนใจว่าแต่งงานกันเมื่อย้ายมาปีที่เท่าไร นับแต่แค่ปีที่ย้ายมาอยู่ค่ะ
แต่งงานหรือไม่แต่งงาน มีผลแตกต่างกันก็แค่เรื่องการต้องสละสัญชาติเดิมเท่านั้นค่ะ หลายคนกังวลว่า gemeente จะไม่ยอมรับเรื่องขอสัญชาติของเราเมื่อมาอยู่ที่นีครบ 3 ปีและยังไม่ได้แต่งงาน ยื่นลิงก์นี้ให้เจ้าหน้าที่เลยค่ะ http://wetten.overheid.nl/BWBR0003738/2017-03-01#Hoofdstuk4  ใน Hoofdstuk4 , Artikel 8 ข้อ 4 เลยค่ะ กฎหมายระบุไว้ชัดว่า จะแต่งงานหรือไม่แต่งก็ได้ค่ะ

ยังมีข้อยกเว้นไม่ต้องรอ 5 ปีสำหรับการขอสัญชาติอีกนะคะ แต่อ่านแล้วรู้สึกว่าเงื่อนไขไม่เกี่ยวกับเราคนไทย เลยไม่ได้แปลค่ะ แต่ผู้อ่านที่สนใจสามารถคลิกเข้าไปอ่านได้นะคะ ที่ลิงก์นี้เลยค่ะ Uitzonderingen 5-jaarstermijn

 ข้อยกเว้นไม่ต้องสละสัญชาติเดิม 

กฎหมายดัตช์บอกว่า ถ้าจะมาขอสัญชาติดัตช์ ก็ต้องสละสัญชาติเดิมค่ะ — แต่กฎหมายนี้ก็มีข้อยกเว้นอยู่ค่ะ ได้แก่

  • กฏหมายของประเทศเดิมระบุว่า จะเสียสัญชาติเดิมโดยอัตโนมัติหากได้รับสัญชาติใหม่ –> อันนี้ไม่มีในกฎหมายไทยนะคะ
  • กฎหมายของประเทศเดิม ไม่มีกฏหมายเรื่องการสละสัญชาติ –> อันนี้ไม่เข้าข่ายของประเทศไทยค่ะ กฎหมายไทยมีเรื่องการสละสัญชาติค่ะ
  • แต่งงานหรือจดทะเบียนพาร์ทเนอร์กับคนสัญชาติดัตช์ –> *** อันนี้เข้าเกณฑ์ของคนไทยที่สุดแล้วค่ะ ***
  • อายุยังไม่ถึง 18 ปี อายุยังน้อย ยังไม่ต้องสละสัญชาติเดิมค่ะ
  • ถือบัตรผู้อยู่อาศัยแบบผู้ลี้ภัย (verblijfsvergunning asiel)
  • เกิดที่เนเธอร์แลนด์
  • ถือสัญชาติเดิมที่เป็นรัฐหรือประเทศที่รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ไม่ให้การยอมรับ
  • ประเทศเดิมมีกฎหมายเรื่องการสละสัญชาติค่ะ แต่คนที่จะสละสัญชาติต้องจ่ายเงินจำนวนมากเพื่อการณ์นี้ –> ข้อนี้ไม่เข้าข่ายกฎหมายไทยนะคะ เท่าที่ทราบคือแค่ไปทำเรื่องขอสละสัญชาติไทยที่สถานทูต อาจจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมนิดหน่อย แต่ไม่ใช่จ่ายเงินเยอะมากๆ แน่นอนค่ะ
  • เราจะต้องสูญเสียสิทธิบางอย่างไปถ้าสละสัญชาติ เช่น เสียสิทธิในมรดกที่ได้รับ
  • กฎหมายของประเทศเดิมระบุว่า ต้องไปเป็นทหารก่อนที่จะสามารถสละสัญชาติได้ –> ข้อนี้ไม่ใช่กฎหมายไทยค่ะ
สรุป : สำหรับคนไทย ที่เข้าเกณฑ์ที่สุดที่จะไม่ต้องสละสัญชาติไทย ก็คือ แต่งงานหรือจดทะเบียนพาร์ทเนอร์กับแฟนชาวดัตช์ล่ะค่ะ — ในเว็บไซต์ของ IND ก็ระบุว่า ตามกฎหมายดัตช์ คนไทยหากได้รับสัญชาติดัตช์ ก็จะสูญเสียสัญชาติไทยโดยอัตโนมัติ โดยการนี้ เราต้องไปทำเรื่องสละสัญชาติไทยต่อรัฐบาลไทย เพื่อให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาว่าเราเสียสัญชาติไทยอย่างเป็นทางการ — ยกเว้นก็แต่ว่า เราแต่งงานกับคนสัญชาติดัตช์ค่ะ เราจะไม่สูญเสียสัญชาติไทยโดยอัตโนมัติ เราสามารถถือ 2 สัญชาติคือ ไทยและดัตช์ได้ค่ะ แต่ถ้าเราอยากจะสละสัญชาติไทย ก็ให้ไปทำเรื่องต่างหาก — แต่งงานกับคนชาติอื่น (ที่ไม่ใช่คนดัตช์) พอได้สัญชาติดัตช์ ก็นับว่าเสียสัญชาติไทยโดยอัตโนมัติเช่นกันค่ะ

กิติกรรมประกาศ

ขอบพระคุณพี่แป๋ว เยาวลักษณ์ วงศ์สุวรรณ แห่ง Thai voor Taal ค่ะ เนื่องจากออยเองยังอ่านดัตช์ โดยเฉพาะภาษากฎหมายยังไม่แตกฉาน พี่แป๋วให้ความกรุณาตอบคำถามข้อสงสัยได้อย่างกระจ่างมากค่ะ

อ้างอิง

  1. กฎหมาย Rijkswet op het Nederlanderschap ค่ะ http://wetten.overheid.nl/BWBR0003738/2017-03-01#Hoofdstuk4
  2. เว็บไซต์ของ IND ค่ะ https://ind.nl/Nederlanderschap/Paginas/Naturalisatie.aspx
  3. ค่าใช้จ่ายในการขอสัญชาติดัตช์ค่ะ https://ind.nl/Paginas/Kosten.aspx#Nederlander_worden
  4. ข้อยกเว้นไม่ต้องรอ 5 ปีที่จะขอสัญชาติดัตช์ https://ind.nl/Paginas/Uitzonderingen-5-jaarstermijn.aspx
  5. ข้อยกเว้นไม่ต้องสละสัญชาติเดิม https://ind.nl/Paginas/Afstand-nationaliteit.aspx
  6. การรักษาสัญชาติ แยกตามรายประเทศ https://ind.nl/Paginas/Landenlijst-behoud-nationaliteit.aspx